การลงทุนการวิเคราะห์ทางเทคนิค

การดูแนวรับแนวต้านของราคาหุ้น (Support & Resistance)

เราสามารถใช้ข้อมูลแนวรับแนวต้านของหุ้นมาประกอบการตัดสินใจในการหาจุดซื้อหรือจุดขายได้ มาดูกันว่ามีวิธีวิเคราะห์อย่างไร

แนวรับ แนวต้าน คืออะไร

แนวรับ (Support Level) คือ บริเวณที่ราคาหุ้นมีแนวโน้มจะไม่ลงต่ำไปกว่านี้ (เมื่อราคาหุ้นลงมาถึงบริเวณที่เป็นแนวรับราคาหุ้นมีโอกาสที่จะเด้งกลับขึ้นไป)
แนวต้าน (Resistant Level) คือบริเวณที่ราคาหุ้นมีแนวโน้มไม่น่าจะขึ้นไปต่อได้อีก (เมื่อราคาหุ้นขึ้นมาถึงบริเวณแนวต้านราคาหุ้นมีโอกาสที่จะเด้งลงมา)

มาดูรูปตัวอย่าง

support-resistance-level

จากรูปเส้นสีเขียวจะใช้แทนราคาหุ้น ส่วนเส้นสีขาวก็คือเส้นแนวรับแนวต้าน ปกติเวลาหาจุดที่เป็นแนวรับนั้นเรามักจะนิยมใช้การลากเส้น Horizontal Line หรือเส้นแนวนอน โดยลากเส้นให้สัมผัสกับบริเวณจุดต่ำสุดของราคาในแต่ละรอบ ยิ่งเส้นที่เราลากสัมผัสราคาบ่อยครั้งมากเท่าไรแนวรับนั้นก็จะมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น  ส่วนการหาแนวต้านเราจะลากเส้นให้สัมผัสกับราคาบริเวณจุดสูงสุดของรอบ และเช่นเดียวกับแนวรับ ยิ่งเส้นที่เราลาก สัมผัสราคาบ่อยครั้งมากเท่าไร แนวต้านนั้นก็จะมีความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้นหรืออาจจะเป็นจุดที่ราคาหุ้นจะไม่สามารถทะลุผ่านไปได้ง่ายๆ

ส่วนเหตุผล และปัจจัยที่ทำให้เกิดแนวรับ อาจเป็นเพราะว่าเมื่อราคาหุ้นได้ตกลงมาถึงจุดๆหนึ่งก็จะมีคนกลุ่มหนึ่งเข้ามาซื้อหุ้นเพราะเห็นว่าเป็นราคาที่เหมาะสม จึงทำให้ราคาหุ้นไม่ตกลงต่ำกว่านั้นและแรงซื้อสามารถผลักดันราคาขึ้นไปได้ระดับหนึ่ง พอราคาขึ้นมาถึงจุดๆหนึ่งซึ่งมีคนคิดว่าแพงไปก็จะมีการขายทำกำไรออกมา (ซึ่งจุดที่เป็นราคาสูงสุดในรอบนั้นก็จะถือเป็นแนวต้าน) ทำให้ราคาไม่สามารถขึ้นไปได้และตกลงมาจนถึงระดับเดียวกับราคาที่บริเวณแนวรับเดิม ซึ่งคราวนี้ก็อาจจะมีนักลงทุนเข้ามาช้อนซื้อเนื่องจากคิดว่าราคานี้เหมาะสมอีก หรือนักเก็งกำไรอาจเข้าซื้อเพราะเห็นว่าราคาใกล้เคียงกลับจุดต่ำสุดครั้งก่อนหรือแนวรับ เลยคิดว่าโอกาสที่ราคาจะเด้งขึ้นมีสูง จากเหตุปัจจัยเหล่านี้จึงทำให้ราคาหุ้นไม่ลงไปอีกและกลับเด้งขึ้นไปได้ ก็จะถือว่าแนวรับนี้รับอยู่อีก

คราวนี้มาดูตัวอย่างการหาแนวรับแนวต้านจากหุ้นจริงๆกันบ้าง

support-resistance-sample

รูปด้านบนแสดงกราฟราคาหุ้นรวมถึงแนวรับและแนวต้านของหุ้น RATCH ในรอบห้าปี ช่วง พฤศจิการยน 2554 ถึง เมษายน 2559 โดยใช้ time frame ระดับ week เพื่อจะดูแนวรับแนวต้านใหญ่ของหุ้น แต่เวลาเทรดจริงเราอาจจะใช้ time frame ย่อยๆลงมาในการจับจังหวะเข้าซื้อหรือขายหุ้นด้วย แต่อยากให้นักลงทุนสังเกตราคาที่แนวรับและแนวต้านใหญ่ของหุ้นไว้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนระยะยาวหรือนักเก็งกำไรระยะสั้นก็ตาม เพราะจะเป็นบริเวณที่มีความสำคัญและน่าเชื่อถือกว่าแนวรับแนวต้านที่ time frame สั้นๆ ถ้ามองจากในรูปเผินๆแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก เวลาเทรดให้พยายามซื้อที่บริเวณใกล้ๆแนวรับ และไปขายบริเวณแนวต้าน ก็อาจจะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการไปซื้อที่แนวต้านและขายที่แนวรับ บางคนไม่เคยเปิดดูกราฟหุ้นเลยและบังเอิญไปซื้อใกล้ๆแนวต้านก็มี ซึ่งแนวต้านเดิมบางทีอาจจะเป็นบริเวณราคาที่มีหลายคนเคยติดหุ้นอยู่และพร้อมที่จะเทขายกระหน่ำให้คุณ อย่างหุ้น RATCH ในช่วงต้นปี 2556 ราคาหุ้นได้พยายามที่จะทะลุช่วง 60 บาทต้นๆ อยู่หลายรอบแต่ไม่สำเร็จโดนแรงขายถล่มลงมาซะก่อน และมาช่วงปลายปี 2557 ถึงต้นปี 2558 ราคาหุ้นก็กลับขึ้นมาถึงใกล้ๆบริเวณที่เป็นแนวต้านเดิมอีกแต่ก็ไม่สามารถทำจุดสูงสุดใหม่ได้ และราคาได้ร่วงลงมาใกล้บริเวณแนวรับและสามารถเด้งขึ้นไปได้เล็กน้อยในช่วงต้นปี 2559 ซึ่งการที่จะดูว่าราคาหุ้นจะสามารถขึ้นต่อเนื่องได้หรือไม่ก็คงต้องวิเคราะห์ปัจจัยอื่นประกอบด้วย เพราะลำพังการดูแนวรับแนวต้านเพียงอย่างเดียวอาจยังไม่ปลอดภัยพอ เราควรใช้การวิเคราะห์ปัจจัยพื้นฐานและดูงบการเงินประกอบด้วยว่ากำไรของบริษัทโตขึ้นหรือลดลง ถ้าบทวิเคราะห์บอกว่ากำไรของหุ้นจะดีขึ้นมากและราคาอยู่ใกล้ๆแนวรับก็ถือว่าน่าซื้อ แต่ถ้ากำไรแย่หรือว่ามีข่าวร้ายอื่นๆที่มีผลต่อบริษัทก็ควรจะไปเลือกหุ้นตัวอื่นแทน

นอกจากนี้ยังมีวิธีการหาแนวรับแนวต้านอีกแบบหนึ่งนั่นคือการใช้ trend line ช่วย โดยให้ลากเส้นแบบแนวทะแยง ถ้าเป็นแนวรับก็ลากเส้นให้สัมผัสจุดต่ำสุดหลายๆจุดด้านล่าง ถ้าเป็นแนวต้านก็ให้ลากเส้นผ่านราคาสูงสุดหลายๆจุดด้านบน ลองดูรูปประกอบ

support-trendline

resistance-trendline

อยากให้ผู้อ่านลองไปฝึกลากเส้นแล้วสังเกตหาแนวรับแนวต้านดู หัดทำบ่อยๆก็จะประเมินได้ว่าจุดไหนมีความสำคัญ และอยากให้ลองสังเกต volume หรือปริมาณการซื้อขายตรงแนวรับแนวต้านด้วยว่าเป็นอย่างไร เช่นถ้าราคาลงมาถึงแนวรับและมี volume ซื้อสูงมากกว่าปกติโอกาสที่ราคาจะเด้งแล้วขึ้นต่อเนื่องก็จะมีสูงมากขึ้น หรือถ้ามีปริมาณ volume ขายในแนวต้านสูงกว่าปกติ ก็ให้ระวังว่าราคาอาจจะขึ้นไปต่อไม่ไหว

มีบางคนกำหนดแนวรับแนวต้านแบบเป็นตัวเลขกลมๆ เช่นดัชนี SET Index ที่ 1000, 1100, 1200 จุด หรือทองคำที่ราคา 1200, 1300 (ทั้งๆที่อาจจะไม่ใช่จุดต่ำสุดหรือจุดสูงสุดเดิม และอาจไม่ตรงกับจุดที่ลาก trend line ด้วย) อันนี้อาจเรียกว่าเป็นแนวรับแนวต้านทางจิตวิทยาก็ได้ เช่น บางคนชิงขายหุ้นตอนที่ดัชนี SET Index วิ่งมาถึง 1400 จุด หรือถ้าดัชนีหล่นลงไปเหลือ 1200 บางคนก็อาจจะถือเป็นจุดซื้อหุ้นก็มี



SLOWRICH

Slowrich ทุกเรื่องธุรกิจ สร้างอาชีพ การลงทุน

Related Articles

Back to top button

Adblock Detected

Please consider supporting us by disabling your ad blocker